ชุ่มคอดีจริงๆ

ชุ่มคอดีจริงๆ

สมุนไพรพื้นบ้าน

สมุนไพรพื้นบ้าน

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

ตำรายาพื้นบ้านของไทย

ครูแก้ว : เรียบเรียงเขียน

ตำรายาพื้นบ้านของคนไทยภาคใต้ มักบันทึกลงในสมุดข่อยที่เรียกว่า "บุด" ผู้ที่สนใจศึกษาตำรายาแผนโบราณจำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับคำเฉพาะที่ใช้ในตำรายา เนื่องจากว่าสมุนไพรมีหลายร้อยชนิด และมียาหลายร้อยชนิดที่คนโบราณคิดค้นแล้วเขียนออกมาเป็นตำราให้คนรุ่นหลังศึกษาและนำไปใช้ประโยชน์ สมุนไพรแต่ละชนิดมีรสและสรรพคุณแตกต่างกันไป เมื่อนำมาปรุงหรือผสมเป็นยาขนานใดขนานหนึ่ง ก็มักประกอบด้วยตัวยาหลากรส เพื่อให้สรรพคุณเสริมกันทำให้เกิดผลในทางบำบัดได้เร็ว เชื่อกันว่าเลือดและน้ำดีเป็นส่วนสำคัญต่อสมุฏฐานของโรคนานาชนิด ยากลางบ้านทุกชนิดจึงต้องมีรสขมเจือไว้ และมักมีตัวยาที่มีรสเบื่อเมาปนอยู่ด้วยเพื่อให้ถอนพิษ ต้องการให้มีสรรพคุณเด่นในทางใด ก็ให้มีส่วนผสมเด่นในทางนั้น รสของยากลางบ้านมักขื่นไม่น่ารับประทาน รสต่างกันสรรพคุณก็จะต่างกันด้วย คนโบราณได้แบ่งรสยาออกเป็น 3 รสกว้าง ๆ คือ
1. ยารสร้อน
ใช้เป็นยาประเภทขับลม แก้จุกเสียด แน่นท้อง เช่น จำพวก ขิง ข่า พริกไทย ดีปลี เบญจกูล คนที สอทะเล กระเพราแดง กระวาน เป็นต้น เป็นรสยาประจำฤดูฝน
2. ยารสเย็น
ใช้เป็นยาประเภทลดไข้ เช่น เกสรดอกไม้ต่าง ๆ ใบไม้ รากรากมะเฟือง ตำลึง สารภี รางจืด ใบพิมเสน รากลำเจียก เมล็ดฝักข้าว ไม้ เขี้ยว งา เขา นอ เป็นต้น เป็นรสยาประจำฤดูร้อน
3. ยารสสุขุม
ใช้เป็นยาแก้ลมหน้ามืด ใจสั่น เช่น โกฐต่าง ๆ เทียน กฤษณา อบเชย จันทน์เทศ ชะลูด เป็นต้น เป็นรสยาประจำฤดูหนาว
นอกจากนี้ยังมีรสย่อย ๆ อีก 10 รส คือ
1. รสฝาด มักมีสาร TANIN เป็นองค์ประกอบ มีสรรพคุณทางสมานแผล แก้ท้องร่วง แก้บิด บำรุงธาตุ เช่น เปลือกมังคุด ลูกหว้า ผลมะตูมอ่อน ใบฝรั่ง ใบชา ฯลฯ
2. รสหวาน มีสรรพคุณทำให้ชุ่มชื่น บำรุงกำลัง แก้อ่อนเพลีย เช่น แก่นขนุน รากชะเอม น้ำอ้อยสด เหง้าสับปะรด ดอกคำฝอย ฯลฯ
3. รสเมาเบื่อ มีสารพวก GLYCOSIDES และ ALKALOIDS รับประทานเข้าไปมักเกิดอาการมึนงง กดประสาท มีสรรพคุณใช้แก้พิษ แมลงสัตว์กัดต่อย เช่น ใบกระท่อม ฝิ่น กัญชา ดอกลำโพง เปลือกข่อย รากทับทิม รากมะเกลือ ฯลฯ
4. รสขม มีสารพวก ALKALOIDS เป็นองค์ประกอบ มีสรรพคุณสำหรับบำรุงโลหิตและดี แต่ถ้าใช้มาก จะแสลงโรคหัวใจพิการ เช่น ดอกขี้เหล็ก มะระ ผักโขม รากปะทัดจีน ผลสะเดา เถาบอระเพ็ด โกฐสอ ฯลฯ
5. รสเผ็ดร้อน มีสารพวก RESIN, OLLEORESIN, GLYCOSIDES และมีสารประกอบ PHENOLS บางชนิด เป็นองค์ประกอบ สรรพคุณแก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ บำรุงธาตุ บรรเทาอาการช้ำบวม เคล็ดขัดยอก แสลงกับโรคพิษร้อน เช่น พริก ขิง ข่า ไพล เม็ดเทียนขาว เจตมูลเพลิง ช้าพลู พิลังกาสา มะขาม กานพลู ฯลฯ
6. รสมัน มีสารพวกไขมัน น้ำมัน เป็นองค์ประกอบ สรรพคุณแก้เส้นเอ็นพิการ บำรุงไขข้อ บำรุงเส้นเอ็น เพิ่มพลังงานให้ร่างกาย แสลงกับโรคดีซ่าน ไอเสมหะ เช่น งาดำ เมล็ดมะขาม เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ ถั่วต่าง ๆ ฯลฯ
7. รสหอมเย็น มีสารน้ำมันหอมระเหยเป็นองค์ประกอบสำคัญ สรรพคุณบำรุงหัวใจ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ อ่อนเพลียบำรุงครรภ์ แสลงกับโรคในลำไส้ เช่น เตยหอม เบญจมาศ ดอกมะลิ พิกุล บุนนาค ดอกขจร รากมะกรูด ผักกะเฉด ฯลฯ
8. รสเค็ม มีสารพวกเกลือเป็นองค์ประกอบ สรรพคุณรักษาโรคผิวหนังเปื่อย เน่า น้ำเหลืองเสีย บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร แสลงโรคกระเพาะอาหารพิการ เช่น เปลือกต้นมะเกลือ รากไผ่ ใบโคกกระสุน ใบเหงือกปลาหมอ ใบหอม ใบกระชาย ฯลฯ
9. รสเปรี้ยว มีสารพวกกรดหลายชนิดเป็นองค์ประกอบ สรรพคุณแก้เสมหะ ฟอกโลหิต แก้ไอ กระหายน้ำ บำรุงผิว แสลงกับโรคท้องร่วง เช่น กระเจี๊ยบ รากพิลังกาสา ส้ม มะนาว มะปราง มะกอก มะอึก ส้มเสี้ยว ส้มเช้า ฯลฯ
10. รสจืด มีธาตุประเภทต่าง ๆ ได้แก่เกลือโปแตสเซี่ยมเป็นองค์ประกอบ สรรพคุณขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้ร้อนใน กระหายน้ำ ถอนพิษปวดแสบปวดร้อน เช่น ใบตำลึง ใบผักบุ้ง รักขาวเถารางจืด รากตะไคร้ น้ำ ละหุ่ง ฯลฯ
เนื่องจากยามีมากมายหลายร้อยชนิด ผู้ศึกษาตำรายาต่าง ๆ อาจจำกันไม่ได้หมด คนโบราณจึงหาวิธีการที่จะให้จำตัวยาได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นโดยการเรียกหรือจัดพวกของสมุนไพรเพื่อที่จะนำไปใช้เป็นยาเอาไว้ เพื่อให้จดจำง่ายสะดวกแก่การเขียนตำรายา ในตำราแพทย์แผนไทยเรียกว่า “คณาเภสัช” หรือ “พิกัดยา” ไว้ โดยแบ่งเป็น 3 จำพวกดังนี้
1. จุลพิกัด หมายถึง การกำหนดเอาตัวยาที่มีชื่อเหมือนกัน 2 อย่างมารวมกันในขนาดที่เท่ากัน แต่มีส่วนที่ต่างกัน คือ
1.1 ต่างกันที่เกิด เช่น ชะเอมทั้งสอง คือ ชะเอมไทย - ชะเอมเทศ
1.2 ต่างสี เช่น คนทีทั้งสอง คือ คนทีสอขาว - คนทีสอดำ
1.3 ต่างขนาด เช่น เร่วทั้งสอง คือ เร่วน้อย - เร่วใหญ่
1.4 ต่างชนิด เช่น ตำแยทั้งสอง คือ ตำแยตัวผู้ - ตำแยตัวเมีย
1.5 ต่างรส เช่น มะปรางทั้งสอง คือ มะปรางเปรี้ยว - มะปรางหวาน
2. พิกัดยา หมายถึงการกำหนดตัวยาที่มีชื่อไม่เหมือนกันหลายชนิดมารวมกัน ในขนาดที่เท่ากัน อาจเป็นตัวยา 2 – 9 ชนิด ตัวอย่างเช่น
3 ชนิด เรียก “พิกัดตรี” เช่น พิกัดตรีผลา (ผลไม้ 3 อย่าง) คือ ลูกสมอไทย ลูกสมอพิเภก ลูกมะขามป้อม
5 ชนิด เช่น พิกัดจันทน์ทั้ง ๕ ได้แก่ แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์จันทนา แก่นจันทน์เทศ
9 ชนิด เช่น พิกัดเนาวหอย (หอยทั้ง ๙) ใช้เปลือกหอย 9 ชนิดเผา ได้แก่ หอยขม หอยแครง หอยตาบัว หอยพิมพาการัง หอยนางรม หอยกาบ หอยจุ๊บแจง หอยมุก หอยสังข์ ฯ ล ฯ
3. มหาพิกัด มีความหมายทำนองเดียวกับพิกัดยา แต่ขนาดไม่เท่ากัน
ลักษณะของคณาเภสัชเป็นประโยชน์ในการช่วยจำ สะดวกแก่การปรุงยา และลดการเขียนในตำรายา แต่ละพิกัดจะต้องมีสรรพคุณคล้ายกัน โดยพิจารณาที่รส ว่าจะต้องไม่ขัดกัน สรรพคุณของแต่ละพิกัดนั้นคือสรรพคุณรวมของตัวยาแต่ละอย่างในพิกัดทั้งสิ้น ส่วน “มหาพิกัด” คือการนำตัวยาหลายตัวมารวมกันในพวกเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าจะรักษาโรคใดเด่น ก็จะใช้ตัวยาเพื่อการรักษานั้นให้มีสัดส่วนมากกว่าตัวยาอื่น
ตัวอย่างสรรพคุณยาในพิกัดเฉพาะอย่าง
พิกัดตรีผลา ลูกสมอไทย รสขม แก้โลหิต น้ำดี ระบายธาตุ ลูกสมอพิเภกแก่ รสฝาด แก้กองธาตุ แก้ไข้ แก้โรคตา ลูกมะขามป้อม รสฝาดเปรี้ยว แก้เสมหะ ลมแก้ไข้
สรรพคุณรวมคือ แก้โรคเกิดจากดีเสมหะ ลมในกองธาตุฤดู และอายุสมุฏฐาน
พิกัดเบญจกูล รากเจตมูลเพลิง รสร้อน กระจายกองลมและโลหิต รากสะค้าน รสร้อน แก้ลมอันเกิดแต่กองวาโยธาตุพิการ รากช้าพลู รสร้อน แก้คูถเสมหะ แก้ลม แก้เมื่อย เหง้าขิงแห้ง รสหวานเผ็ด แก้ไข้ แก้ลมพานลำไส้ พรรดึก ดอกดีปลี รสเผ็ดชวนขม แก้ลม ปัถวีธาตุพิการ
สรรพคุณรวม กระจายกองลมในโลหิต แก้คูถเสมหะ ลมพานลำไส้ แก้โรคและบำรุงในกองธาตุทั้ง ๔
ยังมีคำศัพท์ที่หมอพื้นบ้านจะต้องจดจำและเข้าใจอีกมากมาย เช่น การนำช้าพลูมาใช้เป็นยา ช้าพลูเป็นไม้เลื้อย ใบคล้ายใบพลู มีกลิ่นหอม ใช้ทั้งห้า คำว่า “ใช้ทั้งห้า” ในที่นี้หมอพื้นบ้านจะต้องรู้ว่าหมายถึง “ราก ต้น ผล ใบ ดอก” การนำเหล้ามาใช้ดองยา ก็ต้องรู้ว่าจะต้องใช้เหล้าโรง (28 ดีกรี) จึงจะได้ผล หรือการปรุงยาบางชนิดต้องใช้น้ำกระสาย ต้องรู้ว่าการทำน้ำกระสายนั้นมีวิธีการทำอย่างไร ความรู้เกี่ยวกับตำรายามีที่จะต้องจดจำมากมายจนจำไม่หมด ฉะนั้นในการนำสมุนไพรมาใช้เป็นยา หมอพื้นบ้านจึงต้องอาศัยหรือยึดตำราเป็นหลัก แล้วใช้การสังเกต จดจำ ทดลองเอาเองบ้าง ดังเช่นหมอสว่างแห่งตำบลลำทับได้กล่าวให้ฟังตอนที่ไปสัมภาษณ์ ว่า
“การทำยานี้สำคัญ อยู่ที่หัวของคนเหมือนกัน ครูไม่สอนให้หมด เหมือนเขาไปทำปริญญาถึงเมืองนอก ได้แต่ทฤษฎีมาเท่านั้น ต้องมาค้นคว้าทดสอบเพิ่มเติม…”
หมอกลางบ้านต้องรู้ลักษณะของยา วิธีใช้ยา รู้ประโยชน์ในทางแก้โรค รู้สรรพคุณและรสยา รู้ขนาดที่ต้องใช้ให้เหมาะแก่วัยและอาการของผู้ป่วย รู้ขนาดที่ทำให้เกิดอันตรายถึงตายได้ ยาต่าง ๆ เหล่านั้นมักได้มาจากตำรา อาศัยการถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา หมอยาต้องศึกษาและมีความรู้เกี่ยวกับชนิดของพืช วิธีเก็บส่วนของพืชที่ใช้เป็นยา เมื่อเก็บได้แล้ว ต้องนำมาคัดเลือก ล้าง ตัด หั่นเป็นชิ้นตามความเหมาะสม คือต้องรู้วิธีแปรสภาพ รู้วิธีการเก็บรักษา และการปรุงสมุนไพร รู้ว่าโรคใดควรใช้ หรือไม่ควรใช้สมุนไพร ความรู้เหล่านี้ต้องอาศัยตำราที่บรรพบุรุษเขียนไว้ และการจะรักษาบำบัดอาการเจ็บป่วยให้กับคนไข้คนใดนั้น ใช่ว่าจะรักษาได้ทุกคนไป หมอกลางบ้านที่ดีต้องพิจารณาอาการของโรคประกอบกับเปิดตำรา แล้วหาตัวยาที่มีสรรพคุณที่เหมาะสมมาใช้ในการรักษาให้ถูกกับโรค เหล่านี้เป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากการสังเกต ทดลองใช้จนได้ผล แล้วจดจำเขียนไว้เป็นตำราให้คนรุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์สืบต่อมา
คนในสมัยโบราณรู้จักนำสมุนไพรมาใช้ในการบำบัด บำรุง รักษาโดยอาศัยการสังเกต เรียนรู้ และทดลอง ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน กว่าจะรู้ว่าสมุนไพรใดสามารถนำมาใช้ในการบำบัดบำรุงร่างกายให้หายจากโรคภัยต่าง ๆ ได้ แล้วเขียนเป็นตำรายาให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เรียนรู้จากตำราเหล่านี้และไปรักษาคนไข้นั้นต้องใช้ระยะเวลาอันยาวนาน สมุนไพรที่นำไปใช้รักษาบำบัดอาการต่าง ๆ จะนำไปใช้หลายลักษณะ คือ
1. ยาลูกกลอน คือยาที่บดหรือตำเป็นผง ผสมด้วยน้ำผึ้ง หรือน้ำเชื่อม แล้วคลึงเป็นก้อนสำหรับกลืนกิน
2. ยาผง คือยาที่บดหรือตำละเอียด ใช้ละลายน้ำกระสาย กิน ทา โรย ป้าย นัด แล้วแต่ชนิด
3. ยาต้ม คือยาที่นำมายาที่นำเครื่องยามาตัดเป็นท่อนหรือเป็นชิ้น ใส่ภาชนะที่ทำด้วยดินเผา
หรือปี๊บ ใส่น้ำให้ท่วมตัวยา แล้วต้มหรือเคี่ยวตามต้องการ
4. ยาดอง คือยาที่แช่ด้วยเหล้า ส่วนใหญ่จะใช้เหล้าขาว กินเฉพาะส่วนที่เป็นน้ำ
5. ยาตั้ง คือยาที่ทำเป็นแท่ง ใช้วางทาบตรงปากบาดแผลเพื่อให้ยาดูดพิษร้ายออก
6. ยาเหน็บ คือยาที่ทำเป็นก้อนหรือเป็นแท่ง ใช้เหน็บหรือรักษาแผลในช่องทวาร มักใช้ในการรักษาริดสีดวงทวารงอกเพื่อให้ยุบ หรือหดตัว
7. ยาอม คือยาที่ทำเป็นเม็ด มักมีรสหวาน เมื่ออมแล้วจะค่อย ๆ ละลาย
8. ยาชง คือยาที่ต้องชงด้วยน้ำร้อน โดยมากใช้ดื่มเพื่อบำรุง
9. ยาทา คือยาน้ำหรือยาผงที่ใช้ทาภายนอก
10. ยาดม ยาที่มีกลิ่นระเหย อาจปล่อยให้ระเหย หรือใช้ผ้าห่อ แล้วดมกลิ่น
11. ยารม คือยาที่ต้องเผาไฟให้เกิดควันแล้วใช้ไอรม
12. ยาอาบ คือยาที่ต้มแล้วอาบ
13. ยาแช่ คือยาที่ผสมด้วยน้ำแล้วลงแช่
14. ยาเป่า คือยาที่ผสมแล้วทำเป็นผง ใช้กล้องเป่า
15. ยามวน คือยาที่ทำเป็นมวนแล้วสูบเอาควัน
16. ยาบ้วน คือยาน้ำที่อมแล้วบ้วนทิ้ง
17. ยาประคบ คือยาที่ทำเป็นลูกประคบ
18. ยาสกัด คือยาที่ต้มกับพวกพฤกษชาติ ใส่น้ำเคี่ยวจนน้ำยางวดเป็นแท่ง
19. ยาน้ำส้ม คือยาที่สกัดในน้ำส้ม
20. ยาน้ำกระสาย คือยาที่ผสมกับน้ำมันของหอม
21. ยาสุม คือยาที่ละลายด้วยน้ำ แล้วชุบผ้าหรือสำลีให้ชุ่ม นำไปพอกหรือปิดทับไว้เพื่อให้
เกิดความเย็นหรือเปียกชุ่ม
กรรมวิธีต่าง ๆ ที่คนโบราณคิดค้นขึ้นมาเพื่อการนำสมุนไพรต่าง ๆ มาใช้ได้เหมาะสมกับอาการของโรค เหมาะกับคุณสมบัติของสมุนไพรแต่ละชนิด นับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง สมัยก่อนการแพทย์ยังไม่เจริญ มนุษย์จึงจำเป็นต้องพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาสิ่งแวดล้อม ศึกษาเรียนรู้ด้วยการสังเกต จดจำ นำมาทดลองใช้ เมื่อใช้ได้ผลดีก็เขียนเป็นตำรา ให้ลูกหลานรุ่นหลัง ๆ ได้รับความรู้ ได้รับประโยชน์จากตำราเหล่านี้ หนังสือตำรายาทั้งหลาย จึงเป็นหนังสือที่มีคุณค่าควรแก่การเก็บรักษาเอาไว้

บทความมติชนสุดสัปดาห์
-โอกาสร่วมงานรดน้ำดำหัวตามประเพณีสงกรานต์ ท่ามกลางหมอยาพื้นบ้าน จ.สกลนคร งานนี้มีพิเศษ ถือเป็นงานรับขวัญอาจารย์ยงยุทธ ตรีนุชกร บุคลากรขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ฝึกฝนและเรียนรู้จนเป็นหมอยา และเป็นกำลังหลักในการฟื้นฟูและพัฒนาวงการแพทย์พื้นบ้านและแพทย์แผนไทย ขณะนี้กำลังเป็นหัวหน้าทีมในการรวบรวมความรู้ เพื่อวางเค้าโครงการดูแลสุขภาพตามภูมิปัญญาอีสานคน ทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้จักอาจารย์ยงยุทธ แต่ในแวดวงนักเรียนแพทย์แผนไทยรุ่นใหม่ และเครือข่ายหมอยาพื้นบ้านรู้จักกันดี ผลงานในการจัดหมวดหมู่ ระบบ และความรู้ตามภูมิปัญญาพื้นบ้านของอีสาน น่าจะนำเสนอได้ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 5 ในเดือนกันยายนปีนี้ แฟนคลับเดอะสมุนไพรโปรดติดตามและมาร่วมเชียร์ได้ใน วันนี้ขออุ่นเครื่อง บอกเล่าความรู้จากหมอยาพื้นบ้านที่ได้รวบรวมไว้เบื้องต้น ซึ่งก่อนที่จะลงในตำรับยา ขอแนะนำประเภทหมอยาพื้นบ้านให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จักว่าเขาแบ่งออกได้อย่าง น้อย 11 ประเภท คือ 1) หมอยาสมุนไพร หรือเรียกหมอฮากไม้ หมอรากไม้ ใช้วิธีการรักษาด้วยสมุนไพร แร่ธาตุบางชนิดและเขี้ยวสัตว์หรือส่วนต่างๆของสัตว์ 2)หมอเป่า ใช้วิธีการเป่าเพื่อรักษา เช่น ปูนกินหมากหรือใบสมุนไพรบางชนิด 3)หมอน้ำมนต์หรือหมอเสก เป็นหมอที่ทำน้ำมนต์แล้วไปพรมบนส่วนที่ร่างกายบาดเจ็บ เช่น เกิดอุบัติเหตุ 4)หมอนวดจับเส้น ประเภทนี้คนอยู่เมืองไปถึงฝรั่ง จีน ญี่ปุ่น รู้จักหมอนวดไทยดีว่ามีฝีมือฉมัง5) หมอตำแย หรือหมอเกี่ยวกับการผดุงครรภ์และทำคลอด รวมถึงการดุแลสุขภาพแม่และเด็ก 6)หมอเหยียบเท้าไฟ หรือเรียกหมอเหยียบเหล็กแดง หมอประเภทนี้คล้ายกับเป็นการนวดผู้ป่วยด้วยการใช้เท้าเหยียบน้ำมันและเหล็ก ร้อนๆ จากนั้นไปคลึงตามอวัยวะ เพื่อรักษา 7)หมอสักน้ำมัน หมอสักยาสมุนไพร เป็นการใช้เข็มสักตามร่างกาย อาจใช้น้ำมันหรือยาสมุนไพร8) หมอเหยา หรือหมอลำผีฟ้า ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง รักษาด้วยการรำ และมีดนตรีประจำภาคคือแคน หรือดนตรีอื่นๆ ประกอบ 9 )หมอสูตรหรือหมอสู่ขวัญ หมอพร เนื่องจากมีความเชื่อเรื่อง ขวัญหนีออกจากร่างกาย จึงมีหมอเรียกขวัญกลับมาอยู่ในร่างกาย 10)หมอธรรม คือหมอไล่ผี จับผี บางที่เรียกกันตรงๆว่า หมอผี หมอประเภทนี้ใช้รักษาผู้ป่วย อันเนื่องมาจากผีต่างๆ และ11)หมอพระ คือหมอที่อยู่ในสถานะพระสงฆ์ หมอพระมักใช้วิธีการหลายอย่างในการรักษา ทั้งการพรมน้ำมนต์ การผูกแขน และให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ผู้ อ่านที่เป็นคนรุ่นใหม่ คงนึกว่าหมอเหล่านี้ไม่ค่อยเป็นวิทยาศาตร์ แต่ถ้ามองในมิติวัฒนธรรม และพื้นเพดั้งเดิม หมอเหล่านี้ยังช่วยเยียวยาสุขภาพระดับปัจเจกไปจนถึงสุขภาพของชุมชน โอกาสต่อไปจะนำมาเสนอให้พบกับมิติการดูแลสุขภาพอันหลากหลายของท้องถิ่นไทยกลับ มาพูดถึงตำรับยาของหมอยาพื้นบ้าน ในเบื้องต้นข้อมูลที่ทางอาจารย์ยงยุทธและคณะ ได้รวบรวมไว้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548-2549 พบว่ายังมีตำรับยาของหมอยาพื้นบ้านอีสาน ที่ยังใช้รักษาผู้ป่วยในปัจจุบันทั้งสิ้น 418 ตำรับ ยกตัวอย่างของหมอยาในจ.สกลนคร ที่ใช้บำรุงกำลังหรือยาอายุวัฒนะ อีสานเรียกยากำลัง ตำรับแรกเป็นของ หมอเช็ง คำเพชรดี ใช้แก่นกำลังเสือโคร่ง แก่นม้ากระทืบโรง ทั้งเครือและราก ตั่งตูม รากผ่าสามน้อย รากข้าวจี่ รากเดื่อดิน ให้นำตัวยาทั้งหมดมาต้มในหม้อดินหรือในกาน้ำ ใช้ดื่ม ยานี้มีกลิ่มหอมตำรับของ หมอยัน ยางธิสาร สูตรที่1 แก่นจานเลือด รากกระดูก ถ้าไม่มีใช้รากสาวน้อยตกเตียง ลำต้นเถารางแดง หรือลำต้นเครือเขาแกลบ รากขี้ตุ่น สูตรนี้ใช้สมุนไพรทั้งหมดมาดองสุรา ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนเป็นยาบำรุง ใครที่ไม่ชอบเหล้าให้ใช้สูตร 2 ใช้แก่นม้ากระทืบโรง แก่นกำลังเสือโคร่ง แก่นจานเลือด รากกระดูกหรือรากสาวน้อยตกเตียง ลำต้นเถารางแดง หรือลำต้นเครือเขาแกลบ รากขี้ตุ่น นำสมุนไพรทั้งหมดมาต้มดื่มนอกจาก ยาบำรุงกำลังทั่วไปแล้ว ต้องยอมรับว่าในภูมิปัญญาพื้นบ้านมีตำรับยาประเภท “ ยาโป๊ว ” บำรุงเรื่องเพศ หรือพวกนกเขาไม่ขันอยู่ด้วย ในถิ่นอีสานบางพื้นที่เรียกอาการแบบนี้ว่า ธาตุล้ม ดังนั้นว่ากันตามภูมิปัญญาก็ขอเล่าสู่กันฟังถึงตำรับยาเหล่านี้สัก 1 ตำรับ ของ หมอวันที ลีนาลาด ใช้รากเอ็นอ่อน รากคัดเค้า เปลือกแหน เปลือกขี้เหล็กป่า ว่านธาตุล้ม นำตัวยาทั้งหมดมาต้มดื่มและ ขอแนะนำตำรับยาที่หลังเทศกาลเที่ยวสงกรานต์กลับมาแล้ว อาจมีอาการเมาเบื่อ จากการกินอาหารผิด มีอาการอาเจียน เพลียและวิงเวียน ขอแนะนำตำรับยาของ หมอสมัย เผชิญอ่อน ใช้รากหรือเครือของต้นหญ้านางแดง นำมา 3 ชิ้น ต้มน้ำดื่ม และถ้าใครต้องการถอนพิษเบื่อเมา ผิดสำแดง รวมทั้งอาการเมาค้าง ตำรับของหมอวาสน์ มานุจำ ใช้ตัวยาง่ายๆ คือใบข่อยต้มน้ำใส่น้ำตาลอ้อย กินต่างน้ำและถ้าปวดเมื่อยตัวจากเดินทางไกล ของให้ใช้ตำรับของ หมอนิน ทะนุบำรุง ใช้ตัวยา 2 ชนิดคือ เถาวัลย์เปรียง และปีกบ่าง นำมาต้มน้ำ 3 ส่วนให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มครั้งละ 1 แก้ว สูตรนี้ ใช้เพียงเถาวัลย์เปรียงอย่างเดียวก็พอช่วยคลายเมื่อยได้ตัวอย่าง ตำรับยาพื้นบ้าน และหมอยาพื้นบ้านเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าท้องถิ่นไทยโดยเฉพาะดินแดนอีสานยังอุดมด้วยภูมิปัญญาด้าน สุขภาพ ที่ต้องช่วยกันส่งเสริม พัฒนาให้เป็นขุมทรัพย์ของการพึ่งตนเองของเราต่อไป.

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

สมุนไพรไทย.......ยาดีมีอยู่รอบบ้าน


วันนี้เอายาดีที่หลายๆ คนรู้จัก เเต่เชื่อเถอะนะครับว่า ไม่เคยเห็นหรือลองกันหรอกครับ ผมก็เพิ่งเห็นวันนี้เองครับ พี่น้อง

"ฟ้าทะลายโจรช่วยแก้ไข" "กล้วยน้ำว้า ทับทิม ฝรั่งดิบรักษาอาการท้องเสีย" "ขิง มะนาว ช่วยแก้ไอ" "กิ่งข่อยรักษาโรคเหงือก" "ตะไคร้ช่วยขับลมขับปัสสาวะ" "ปูนแดงใช้ห้ามเลือด" "ว่านหางจระเข้แก้แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก" แล้วก็ยังมีสมุนไพรไทยอีกหลายชนิดที่ช่วยรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพแต่น้อยคนนักที่จะรู้จักสรรพคุณของสมุนไพรไทยเหล่านี้ทั้งๆ ที่เราสามารถปลูกพืชสมุนไพรพวกนี้ไว้ได้รอบๆ บ้าน ประหนึ่งว่ายาดีมีอยู่รอบบ้านทีเดียว

จุดเด่นของสมุนไพรไทยคือ มีความปลอดภัย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียงของยาหากใช้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำ มีประสิทธิภาพสูงเพราะเกิดจากการสั่งสมองค์ความรู้ของภูมิปัญญาไทยมาแต่โบราณ และเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของไทย ทำให้เราพึ่งตนเองได้เมื่อเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆและปัจจุบัน ยาสมุนไพรไทยบางชนิดก็ได้รับรองให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย

คุณวีรพงษ์ เกรียงสินยศ ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวว่า "แต่เดิมบัญชียาหลักแห่งชาติมีเฉพาะยาแผนปัจจุบัน แต่ตอนนี้มียาสมุนไพรไทยเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักด้วย เพราะรัฐบาลเริ่มมองเห็นแล้วว่าสมุนไพรไทยเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักด้วย เพราะรัฐบาลเริ่มมองเห็นแล้วว้าสมุนไพรไทยมีศักยภาพพอที่หมอจะจ่ายยาได้ การที่ยาสมุนไพรเข้าไปอยู่ในบัญชียาหลักทำให้ประชาชนที่เลือกรับยาสมุนไพรสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ ใช้สิทธิประกันสังคมและสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคได้ ตอนนี้ยังมีอยู่ไม่กี่ชนิดแต่ในอนาคตต้องเพิ่มมากขึ้นแน่นอน"

ความหมายของบัญชียาหลักนั้นหมายถึงรายการยาซึ่งมีความปลอดภัยสูงมีประสิทธิภาพ เป็นยาพื้นฐานความจำเป็นต่อการเยียวยารักษาสุขภาพของคนครอบคลุมโรคเจ็บป่วยต่างๆ เช่นยารักษาโรคหัวใจ ยาแก้ไมเกรน ยาแก้ปวดหัว แต่ละประเทศจะมีบัญชียาหลักเป็นของตนเอง สำหรับประเทศไทยนาสมุนไพรไทยที่จัดอยู่ในบัญชียาหลัก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ หนึ่ง...บัญชียาจากสมุนไพรที่มีการใช้ตามองค์ความรู้เดิม เช่นยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐแก้โรคลม, ยาจันทร์ลีลาแก้ไข้ตัวร้อน, ยาประสมมะแว้ง บรรเทาอาการแน่นจุกเสียด, ชุมเห็ดเทศ(ยาผง)บรรเทาอาการท้องผูก, ไพล(ยาครีม)บรรเทาอาการบวม ฟกช้ำ เคล็ดยอก เป็นต้น

ดังนั้นเราควรรู้ว่า ตนเองมีสิทธิ์ที่จะให้แพทย์จ่ายยาสมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบันได้ สำหรับโรงพยาบาลที่ให้คำแนะนำผู้ป่วยเรื่องยาสมุนไพรหรือมีการจ่ายยาสมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบันนั้น ก็เช่น โรงพยาบาลกุดชุม จ.ยโสธร, โรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี, โรงพยาบาลวังน้ำเย็น จ.สระแก้ว ที่กรุงเทพฯ ก็เช่นโรงพยาบาลศิริราช ที่แผนกแพทย์ แผนไทยประยุกต์

นายแพทย์อดิสรณ์ วรรธนะศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกุดชุม จ.ยโสธร กล่าวว่า "เมื่อศึกษาอย่างจริงจังทำให้รู้ว่า สมุนไพรไทยมีความปลอดภัยและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน แต่ต้องใช้อย่างถูกวิธีในปริมาณที่เหมาะสมและยังมีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนด้วย ทางโรงพยาบาลจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชสมุนไพรแล้วเราก็รับซื้อ ทำให้ชาวบ้านมีงานมีรายได้ สำหรับคุณหมอเพื่อให้คุณหมอมั่นใจว่า ยาสมุนไพรที่เรานำมาแทนยาแผนปัจจุบันนั้นปลอดภัยจริงๆ โดยทุกตัวที่เราใช้จะต้องมีผลการวิจัยที่น่าเชื่อถือรองรับ"

"สำหรับยาสมุนไพรที่ทางโรงพยาบาลกุดชุมสั่งจ่ายให้คนไข้ ก็เช่นยาธาตุอบเชย สรรพคุณขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ, น้ำมันไพล ใช้แทนครีมนวดทาแก้ปวด บรรเทาอาการบวม, ยาตำรับยาอายุวัฒนะ นำมาแทนพวกวิตามินรวม ช่วยทำให้เจริญอาหาร ทำให้ระบบการขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งวิตามินรวมไม่สามารถช่วยในเรื่องของการขับถ่ายได้" นายแพทย์อดิสรณ์ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

และสุดท้าย คุณวีรพงษ์ ผู้จัดการมูลนิธิสุขภาพไทย กล่าวสรุปว่า "สมุนไพรไทย เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตแบบพอเพียงมากๆ เพราะหัวใจสำคัญของชีวิตแบบพอเพียง ก็คือ การพึ่งตนเองได้ในปัจจัยสี่ ซึ่งยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ถ้าเราปลูกพืชสมุนไพรไว้รอบบ้าน เจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ ก็พึ่งตนเองได้ หรือการใช้ยาสมุนไพร ก็ช่วยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ทำให้เงินไม่รั่วไหลไปนอกประเทศ นำไปสู่ชีวิตที่เรายืนได้ด้วยตัวเองถือเป็นความสุขแบบพอเพียงที่แท้จริง

วันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ขมิ้น มีประโยชต่อร่างกายยังไง




ประโยชต่อร่ายการของขมิ้น




คนสมัยก่อนมีการใช้ประโยชน์จากขมิ้นในหลาย ๆ ด้าน ทั้งเป็นยาภายนอกและยาภายใน ในส่วนของยาภายนอกเชื่อว่า ขมิ้นชันช่วยรักษาแผล ทำให้แผลไม่เป็นหนอง ช่วยสมานแผล ดังนั้นเวลาที่นาคปลงผมก่อนอุปสมบท หลังจากโกนผมแล้วเขาจะทาหนังศรีษะด้วยขมิ้น เพื่อรักษาบาดแผลที่อาจจะเกิดจากใบมีดโกน
ขมิ้นยังมีสรรพคุณในการรักษาพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ในสมัยที่ยังเล็ก ๆ ตอนยุงกัดเป็นตุ่มแดง คุณยายมักจะใช้ปูนกินกับหมากแต้ม เพราะต้องการฤทธิ์แก้พิษของขมิ้นที่ผสมอยู่ในปูนที่กินกับหมาก และฤทธิ์ของปูนที่ช่วยให้ขมิ้นติดผิวได้ดีขึ้น (ปูนกินกับหมากของคนโบราณได้จากการเผาเปลือกหอยจนร้อนจัด สามารถบดเป็นฝุ่นละเอียดสีขาว แล้วเอาไปผสมกับขมิ้น จะให้สีส้มหรือเรียกเป็นสีเฉพาะว่าสีปูน)
นอกจากนี้ยังนิยมใช้ขมิ้นเป็นเครื่องสำอาง คนในแถบตอนใต้ของเอเชียและแถบตะวันออกไกล ใช้ขมิ้นทาผิวหน้าทำให้ผิวหน้านุ่มนวล คนมาเลเซียและคนไทยสมัยก่อนจะใช้ขมิ้นในการอาบน้ำ ทำให้ผิวผ่องยิ่งขึ้น วิธีการอาบน้ำด้วยขมิ้นนั้นจะทาขมิ้นหมักไว้ที่ผิวหนังสักพัก แล้วจึงขัดออกด้วยส้มมะขามเปียก นอกจากทำให้ผิวหนังนุ่มนวลแล้ว ขมิ้นยังมีสรรพคุณในการป้องกันการงอกของขน ผู้หญิงอินเดียจึงใช้ขมิ้นทาผิวหนังเพื่อป้องกันไม่ให้ขนงอก


ลักษณะทางพฤษศาสตร์
ขมิ้นเป็นพืชในตระกูลชิงจิเบอราซีอี มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เคอร์คูมา ลองกา (Curcuma longa L) เป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดินเช่นเดียวกับขิงและไพล โดยมากนักจะเรียกส่วนที่เป็นลำต้นนี้ว่าเหง้า ลำต้นส่วนที่เหนือดินมีความสูง ประมาณ 1 เมตร ใบมีขนาดยาว 2-3 ฟุต ปลายใบมน ใบมีสีเขียว ดอกมีสีขาวแกมเหลือง ขมิ้นมักจะขึ้นรวมกันอยู่เป็นกอๆ ส่วนเหง้าจะมีเนื้อ สีเหลืองจัด ถ้าเจริญในดินปนทรายจะให้เหง้ามากกว่าปลูกในดินธรรมดา เจริญได้ดีในฤดูฝน
ขมิ้นเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศในแถบเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ และแพร่กระจายไปสู่แถบต่างๆ มีบันทึกไว้ว่า มาร์โค โปโล (Marco Polo) ได้นำไปปลูกในจีน เมื่อ พ.ศ.1280 จากนั้นจึงแพร่เข้าสู่ยุโรป และส่วนอื่นๆ ของโลกในปัจจุบันนี้ขมิ้นมีปลูกกันมากในอินเดีย (โดยเฉพาะเมืองมัดราส บอมเบย์ และเบงกอล) ลังกา ภาคใต้ของจีน ไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไฮติ เปรู และจาไมกา ใน แต่ละปีประเทศต่างๆ ผลิตขมิ้นได้ประมาณ 160,000 ตัน ในจำนวนนี้ผลิตจากอินเดียและบังคลาเทศถึง 90 เปอร์เซ็นต์ สำหรับในอินเดียนั้นมีความต้องการขมิ้นเป็นอย่างมาก ขมิ้นที่ผลิตได้ในแต่ละปีจะนำไปใช้ ภายในประเทศมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือนำไปขายยังสหรัฐอเมริกา ศรีลังกา และญี่ปุ่น
ประโยชน์
ขมิ้นเป็นเครื่องเทศที่ใช้กันมานานแล้ว โดยนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ มากมาย จากหลักฐานที่ค้นพบกล่าวว่า ขมิ้นได้มีใช้กันในชาวแอสซีเรียน (Assyrian) ตั้งแต่ 600 ปีก่อนพุทธศักราช การใช้ขมิ้นส่วนใหญ่ จะใช้เป็นเครื่องแต่งกลิ่น รสและสีในอาหารหลายชนิด เช่น แกงกะหรี่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำไปใช้เป็นยาอีกด้วย เช่น เป็นยาลดกรด ขับลมแก้ปวดท้อง แก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อทำให้การบีบตัวของลำไส้ลดลลง ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ขับน้ำเหลือง ใช้รักษารอบเดือนไม่ปกติ น้ำที่ได้จากขมิ้นนำมารักษาโรคผิวหนัง หรือนำมาพอกแก้ปวดตามข้อได้ แก้โรคตา แก้บิดปวดท้อง แก้ดีซ่าน แก้ท้องร่วง นำส่วนเหง้าไปต้มให้สุก แล้วบดให้ละเอียด นำไปทาแก้โรคผิวหนัง ทาตามซอกอับในร่างกายเพื่อบำบัดกลิ่นที่ไม่พึงปรารถนา เหง้าขมิ้นกินแก้โรคภายในทั้งปวง แก้เสมหะ นำขมิ้นไปต้มกับน้ำนมและน้ำตาลใช้รับประทาน เพื่อป้องกันและรักษาไข้หวัด นอกจากนี้ยังนำไปใช้รักษาแผลสดและทำลายพยาธิได้
นอกจากจะใช้ประโยชน์จากขมิ้นดังกล่าวแล้ว ยังนำไปใช้เป็นสีย้อมและเครื่องสำอางอีกด้วย การใช้เป็นสีย้อมจะพบมากในอินเดีย จีนและบางส่วนของยุโรป ส่วนการใช้เป็นเครื่องสำอางนั้น จะพบมากในแถบตอนใต้ของเอเชีย และในหลายประเทศแถบตะวันออกไกล โดยใช้ขมิ้นทาผิวหน้า จะทำให้มีผิวนุ่มนวล ในมาเลเซียใช้ขมิ้นผสมน้ำสำหรับใช้อาบเพื่อให้ร่างกายสะอาด ในอินเดียใช้ทาที่ผิวหนังของผู้หญิงเพื่อป้องกันไม่ให้ขนงอก จากการศึกษาต่อมาพบว่าขมิ้นยังมีผล ต่อการแบ่งเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย โดยจะทำให้สายของโครมาติกแยกออกจากกัน เกิดการแตกหัก และถูกทำลายในที่สุด
สารเคมีที่สำคัญ
สารเคมีที่พบในขมิ้นนั้นจะพบในส่วนของน้ำมันหอมระเหยเป็นสำคัญ โดยทั่วไปแล้วขมิ้น จะมีน้ำมันหอมระเหยตั้งแต่ 2-6 เปอร์เซ็นต์ น้ำมันมีสีเหลืองและเรืองแสงได้เล็กน้อยสารเคมีที่พบมากที่สุดคือ เทอร์มีโรน (termerone) ประมาณ 58-59 เปอร์เซ็นต์ สารนี้มีสูตรโมเลกุลเป็น C15 H22 O รองลงมาได้แก่ ซิงจิเบอรีน (zingiberene) 25 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังพบสารต่างๆ อีกหลายชนิด ได้แก่ ซาบินีน (sabinene), บอร์นีออล (borneol), ซินีออล (cineol), เทอร์พีรอล (termerol), เคอร์คูโมน (curcumone) และฟิลแลนดรีน (phellandrene)
ในสารดังกล่าวนี้นั้นพบว่า เทอร์มีโรนหรือดีไฮโรเทอร์มีโรนและเคอร์คูโมนไม่ได้มีพบอยู่ ในน้ำมันหอมระเหยของขมิ้น แต่เกิดจากการรวมตัวในขณะที่มีการสกัดสารต่างๆ เช่น เคอรีคูโมน จะเกิดขึ้นในขณะที่มีการนำสารพวกอัลคาไล (alkali) เติมในน้ำมันหอมระเหย
นอกจากนี้ยังพบสารที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ เคอร์คูมิน (curcumin) ซึ่งมีประมาณ 1.8-5.4 เปอร์เซ็นต์ สารนี้มีสีเหลืองส้ม หรือสีเหลืองแดง ซึ่งเป็นสีของขมิ้นนั่นเอง สารนี้ไม่ละลายน้ำ แต่ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ และกรดอะเซติค
จากการศึกษาต่อมาพบว่า ปริมาณน้ำมันหอมระเหยและเคอร์คูมินในขมิ้นจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุของพืช กล่าวคือขมิ้นที่มีการเจริญเต็มที่แล้วจะมีปริมาณของเคอร์คูมินเปลี่ยนแปลงไป ในช่วงระยะการเจริญตั้งแต่เดือนที่ 5 ถึงเดือนที่ 8 เพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนน้ำมันหอมระเหยในขมิ้น ที่มีการเจริญเต็มที่จะมีปริมาณลดลงและการลดลงจะมีมากที่สุดในเดือนที่ 8 นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ในการปลูกขมิ้นนั้น ถ้าใส่ปุ๋ยไนโตรเจนหรือฟอสฟอรัสหรือโปตัสเซียมหรือทั้งสามชนิด จะทำให้ได้ผลผลิตของขมิ้นเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณของเคอร์คูมินจะลดลง
ประสิทธิภาพต่อจุลินทรีย์
ขมิ้นมีประสิทธิภาพต่อจุลินทรีย์ได้ทั้งแบคทีเรียและรากล่าวคือ สามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดโรคโบทูลิซึม (Clostridium botulism) และโรคในระบบทางเดินอาหาร (เช่น Salmonella spp.) นอกจากนี้ยังยับยั้งการเจริญของราที่ทำให้อาหารเน่าเสีย (เช่น Rhizopus, Penicillium, Aspergillua) ได้อีกด้วย
ขมิ้นนอกจากจะมีความสามารถในการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ได้แล้ว ยังกระตุ้นการเจริญของจุลินทรีย์บางชนิดได้อีกด้วย โดยจะกระตุ้นการเจริญของแลคโตบาซิลไลสเตรพโตคอคไค และอี.โคไลได้ดี ซึ่งความสามารถดังกล่าวนี้อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องหมักดอง เป็นต้น

น้ำลูกยอ สิ่งดีๆ ที่มองข้ามกัน


ส่วนประกอบน้ำลูกยอครับ




น้ำลูกยอ คุณสมบัติ ข้อมูลผลการวิจัย ของ ดร.ราฟ ไฮเนกี นักชีวเคมี ชาวอเมริกันพบว่า การดื่ม “น้ำลูกยอ” เป็นะรยะๆอยางต่อเนื่อง ช่วยลดอาการเจ็บป่วยของโรคต่อไปนี้ มะเร็ง 78 % โรคหัวใจ 80 % เบาหวาน 83 % โรคอ้วน 72 % สูบบุหรี่ 58 % ความดันโลหิตสูง 87 % โรคภูมิแพ้ 85 % ระบบย่อยอาหาร 80 % นอนไม่หลับ 72 % โรคไต 66 % โรคเครียด 71 % โรคซึมเศร้า 77 % เสริมกล้ามเนื้อ 71 % อารมณ์ดี 79 % ความคิดมึนตื้อ 89 % ปวดข้อ ไขข้ออักเสบ 80 % เรี่ยวแรงไม่มี 91 % อาการเจ็บปวดต่างๆ 87 % อัมพาต 58 % สมองไวขึ้น 73 % ดื่มได้ทุกวันทั้งก่อนและหลังอาหาร(ดื่มก่อนอาหาร ช่วยให้รับประทานอาหารได้ และดื่มหลังอาหาร เพื่อช่วยการย่อย) ช่วยปรับสมดุลให้แก่ร่างกาย ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด การดื่มน้ำลูกยอสามมารถดื่มได้มาก – น้อยตามความต้องการ เพราะสารเซโรนีนในลูกยอ จะถูกกักตุนไว้ในตับ และเมื่อร่างกายต้องการสารเซโรนีน ตับจะขับสารนี้ออกมาช่วยให้อาการเจ็บป่วยลดน้อยลงหรือหายเร็ว สารเซโรนีนจะเป็นตัวควบคุมการทำงานของต่อมทั้งหลายในร่างกาย เช่น ต่อมไทมัสเกี่ยวข้องกับหัวใจ ต่อมหมวกไตเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความเครียดฯ วิธีทำน้ำหมักลูกยอ อัตราส่วน ลูกยอ 7 กก. + น้ำ 10 ลิตร + น้ำตาลทรายแดง 1 กก. + เกลือและน้ำผึ้งรวงพอเหมาะ วิธีทำ ต้มน้ำให้สุก ทิ้งไว้ให้เย็น ใส่น้ำตาลทรายแดง เกลือและน้ำผึ้งรวง คนให้เข้ากัน แล้วใส่ลูกยอสุกที่ขยำให้แหลกแล้วลงในน้ำที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากัน หมักไว้ 1 – 3 เดือน คนทุกๆระยะเวลา 7 วัน จากนั้นกรองเอาแต่น้ำหมัก เป็นน้ำหมักที่เข้มข้น นำไปดื่มต่อไป ส่วนกากสามารถนำไปหมักได้อีก 1 – 2 ครั้ง ทำการหมักเช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว วิธีรับประทาน ในกรณีดื่มเข้มข้น ใช้ขนาด 1 ถ้วยเปค(ประมาณ 25 – 30 ซีซี) หากต้องการดื่มแบบเจือจาง ให้ผสมน้ำสุกในอัตราส่วน 1 : 3 แล้วเติมน้ำตาลทรายให้หวานตามต้องการ จะใส่น้ำแข็งด้วยก็ได้ ดื่มวันละ 1 – 2 แก้ว ตามต้องการ


อันนี้เป็นบทความ ของ ดร. วินัย ดะห์สัน ครับ


ผู้เขียนเป็นคนที่มักจะได้ลาภปากที่ไม่ทันคาดคิดอยู่บ่อยๆ โดยมักมีผู้ปรารถนาดีนำเอาอาหารแปลกๆ มาให้ได้ทดลองด้วยตนเองอยู่เสมอ หลายเดือนมาแล้วมีคนที่ผู้เขียนไม่เคยรู้จัก นำเอาน้ำลูกยอใส่ขวดสีเขียว ขนาด 75 เซนติลิตร ติดราคาขวดละ 1,800 บาท มาให้ ผู้เขียนได้เห็นราคาแล้วก็ตกใจเพราะไม่เคยคาดคิดว่า น้ำผลไม้อะไรจะมีราคาแพงได้ขนาดนั้น ราคาแพงกว่าไวน์บอว์โดซ์ประเภทชาโตบางยี่ห้อเสียด้วยซ้ำ
เมื่อต้นเดือนที่แล้ว มีชาวบ้านแถบฉะเชิงเทราซึ่งผู้เขียนไม่รู้จักอีกเหมือนกัน นำเอาน้ำลูกยอใส่ขวดใสมาให้ผู้เขียนได้ลองดื่ม คนที่เอามาให้เขายืนยันว่ากรรมวิธีที่ใช้ในการสกัดน้ำลูกยอของเขา ไม่ต่างจากวิธีการผลิตน้ำลูกยอต่างประเทศยี่ห้อดังที่ผู้เขียนได้รับมาในครั้งแรกสักเท่าไหร่ เข้มข้นกว่าและอร่อยกว่าด้วยซ้ำ ว่างั้นเถอะ
จะเกทับบลัฟแหลกกันอย่างไรคงไม่สำคัญ แต่ที่น่าแปลกใจคือ น้ำลูกยอของชาวบ้านที่นำมาให้ผู้เขียน ราคาขายแค่ขวดละ 180 บาท ถูกกว่ากันสิบเท่า อย่างไรก็ตาม แม้จะมีราคาถูกขนาดนี้เมื่อเปรียบเทียบกับน้ำอ้อย น้ำกระเจี๊ยบใส่ขวดขนาดเดียวกัน ซึ่งขายในราคาประมาณ 20-30 บาทก็ต้องนับว่าน้ำลูกยอยังราคาแพงอยู่มาก
ไม่น่าจะเชื่อนะครับว่ากระแสความคลั่งไคล้น้ำลูกยอของคนไทย จะส่งผลให้ราคาน้ำลูกยอที่ในอดีต ไม่ค่อยมีใครนิยมสักเท่าไหร่กลับกลายมาเป็นน้ำผลไม้ทองคำทำราคาได้สูงถึง 180 บาท สำหรับน้ำผลไม้คั้นปริมาณไม่ถึงลิตร ขนาดราคา 180 บาทยังว่าแพงแล้ว ดังนั้น ขออย่าไปวิจารณ์น้ำลูกยอต่างประเทศที่มีราคา 1,800 บาทเลย
ผู้เขียนไม่ได้สนใจว่าราคาของน้ำลูกยอยี่ห้อดังจากต่างประเทศจะสูงขึ้นหรือลดลงไปกว่านี้ ไม่ได้สนใจว่าน้ำลูกยอชาวบ้านที่พักหลังๆ เห็นมีออกมาจำหน่ายกันหลายต่อหลายเจ้า ราคาถูกบ้างแพงบ้าง ถึงวันนี้จะมีราคาสักเท่าไหร่ สิ่งที่ผู้เขียนสนใจคือ น้ำลูกยอได้กลายเป็นกระแสโภชนาการ ไม่ต่างจากยุคที่น้ำปั่นผักหรือน้ำอาร์ซีชีวจิต กลายเป็นกระแสฮิตขึ้นมาเมื่อกว่าสองปีมาแล้ว
เมื่อปลายเดือนเมษายน ผู้เขียนมีโอกาสไปบรรยายในการประชุมวิชาการด้านโภชนาการ ของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่โรงแรมมารวยการ์เด้น แถบบางเขน ได้รับคำถามจากนักวิชาการด้านโภชนาการด้วยกันว่าผู้เขียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับน้ำลูกยออย่างไร เมื่อมีการกล่าวอ้างว่าน้ำลูกยอช่วยรักษาโรคได้หลายต่อหลายโรค น่าจะเป็นจริงอย่างนั้นหรือเปล่า
คำตอบของผู้เขียนคือ เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เมื่อกระแสน้ำอาร์ซีชีวจิตหรือน้ำคั้นธัญพืชเก้าชนิด โด่งดังเปรี้ยงปร้าง ผู้คนเชื่อกันว่าน้ำอาร์ซีรักษาโรคได้สารพัดโรคแม้กระทั่งโรคมะเร็ง ผู้เขียนได้รับคำถามลักษณะเดียวกันนี้ ซึ่งผู้เขียนตอบไปว่าเรื่องของน้ำอาร์ซีที่ชาวบ้านแห่แหนกันหาดื่มนั้น เป็นแค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว ขอให้รออีกสักพักหนึ่ง กระแสที่ว่านี้ก็จะจางหายไป
น้ำอาร์ซีที่ครั้งหนึ่งผู้คนเคยเสาะแสวงหากันเหลือเกิน น้ำอาร์ซีสำเร็จรูปมีวางขายกันทั่วไป ถึงวันนี้หาไม่ได้อีกแล้วในท้องตลาด คนที่เคยเรียกหาน้ำอาร์ซีมาดื่มในวันนี้ กลับไม่เคยถามหาถึงน้ำอาร์ซีอีกเลย กระแสนิยมชีวจิตหายไปเสียเฉยๆ เหมือนครั้งหนึ่งที่เคยเกิดกระแสนิยมน้ำปั่นผัก แล้วก็เลือนหายไปไม่ต่างกัน
ความนิยมน้ำลูกยอในวันนี้ เป็นกระแสไม่ต่างจากน้ำปั่นผักและน้ำอาร์ซี ถึงวันหนึ่งผู้คนก็เลิกเห่อเลิกดื่ม ขออย่าได้ซีเรียสกันนักเลย สิ่งที่ควรทราบคือโภชนาการของแท้นั้น ไม่มีกระแสหรอกครับ คนที่ดื่มน้ำลูกยอเป็นน้ำผลไม้ชนิดหนึ่งทำได้อย่างนี้จึงจะเป็นโภชนาการแท้ ปีหน้าก็ยังดื่มน้ำลูกยอได้ แต่หากยึดถือว่าน้ำลูกยอเป็นน้ำผลไม้มหัศจรรย์ใช้ป้องกันรักษาโรคสารพัดถึงวันหนึ่งก็ต้องเลิกดื่ม เพราะเรื่องหลังนี้เป็นแค่กระแสเท่านั้น อะไรที่เป็นกระแสอยู่ได้ไม่นานหรอก
ผู้เขียนจะไม่วิจารณ์ความเชื่อที่ว่า น้ำลูกยอช่วยรักษาโรคได้หลายชนิดตั้งแต่เบาหวานไปถึงมะเร็ง พักหลังๆ ลามไปจนถึงโรคเอดส์ เหตุที่ไม่วิจารณ์เพราะความเชื่อเหล่านี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการ สนับสนุนเลยแม้แต่น้อย ใครที่จ่ายสตางค์แพงๆ ซื้อน้ำลูกยอก็ต้องถือว่าเป็นความพึงใจส่วนตัว
อันที่จริงน้ำลูกยอหากพิจารณาในแง่ของน้ำผลไม้ ก็ต้องถือว่าเป็นน้ำผลไม้ที่มีประโยชน์ จะไปบอกว่าไม่มีประโยชน์คงไม่ได้ คนไทยรู้จักใบยอกันมานานเอามาใช้ทำห่อหมก ทำแกงอ่อม หรือแกงเผ็ดกะทิใส่ใบยอ ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ ใช้ทำแกงหอยขม
ยอมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Morinda citrifolia บางครั้งฝรั่งเรียกว่า ผลไม้เนยแข็ง เพราะรสชาติเลี่ยนพอกัน ยอเป็นพืชที่มีประโยชน์ ใบยออุดมไปด้วยแคลเซียม โดยมีแคลเซียมสูงพอๆ กับผักคะน้า ใบยอต้มสักสองช้อนโต๊ะ ให้แคลเซียมสูงพอๆ กับนมหนึ่งแก้วหรือสูงถึง 400 มิลลิกรัม การดูดซึมแคลเซียมแม้จะไม่ดีเท่านม แต่ก็ต้องนับว่าดูดซึมได้ไม่เลวนัก
นอกจากแคลเซียมสูงแล้ว ใบยอรวมไปถึงลูกยอ ยังมีฟอสฟอรัสค่อนข้างสูง ทั้งใบยอและน้ำลูกยอ จึงนำมาใช้บำรุงกระดูกได้ค่อนข้างดี สำหรับวิตามินนั้น ในใบยอรวมไปถึงลูกยอ มีสารเบต้าแคโรทีนสูง สารตัวนี้เป็นสารก่อวิตามินเอแถมยังเป็นสารต้านออกซิเดชั่น ช่วยทำลายอนุมูลอิสระอีกต่างหาก
ดื่มน้ำลูกยอเป็นน้ำผลไม้ จึงให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ดีกว่าน้ำผลไม้หลายชนิดเสียด้วยซ้ำ แต่ก็อย่างที่บอกคือ ประโยชน์ของน้ำลูกยอนั้นเกิดขึ้นในสถานะที่มันเป็นน้ำผลไม้ ไม่ใช่ยารักษาโรค การใช้น้ำลูกยอไปรักษาสารพัดโรคอย่างที่เชื่อกันอยู่นั้น เป็นเรื่องที่เลยเถิดจากความเป็นวิชาการไปค่อนข้างมาก
เมื่อน้ำลูกยอกลายเป็นกระแสความคลั่งไคล้ ราคาหนึ่งขวดขนาด 750 เซนติลิตร 1,800 บาทหรือสองพันบาท จึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผิดคาดสักเท่าไหร่ ซื้อตามกระแสก็ต้องจ่ายแพงอย่างนี้ ก็เหมือนครั้งหนึ่งผู้คนเคยคลั่งต้นบอนสี กระถางหนึ่งราคาเป็นหมื่น พอหมดกระแสแล้วราคาบอนสีตกเหลือแค่ร้อยกว่าบาท น้ำลูกยอราคาเป็นพัน ก็คงมีอนาคตไม่ต่างกันหรอกครับ